วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

อูคูเลเล่: หนทางสู่การเป็นเซียน Uke แบบเซียนพระ ตอนที่ 1

ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้ นอกจากงานที่หนักหน่วง เครียด กดดันแล้ว ก็ยากจะหาเวลาที่จะมีความสุขแบบนิ่งๆไม่ได้เลย ความสุขแบบนิ่งๆสำหรับเรา ให้นึกถึงสมัยเด็กๆที่นอกจากเวลาเรียนหนังสือ หลายๆคนก็จะมีงานอดิเรกนิ่งๆ เช่น อ่านการ์ตูน ต่อโมเดล สะสมสติกเกอร์ อะไรเทือกๆนั้น งานอดิเรกพวกนี้มักทำให้เราอยู่นิ่งๆ และมีความสุขได้แบบหัวใจพองโต.

ในวัยที่อายุมากขึ้นๆก็เหมือนกัน เราก็ควรจะหาความสุขแบบนิ่งๆเหมือนสมัยเด็กๆให้หัวใจมันพองโตกันหน่อย หนีความวุ่นวายจากงาน ที่หนักๆ เครียดๆได้ แล้วเราก็เลยได้พบว่า นอกจากการเล่น อูคูเลเล่ มันจะสนุกแล้ว การที่เราศึกษาข้อมูล อูคูเลเล่ เก่าๆแล้วเฝ้าดูของตาม eBay มันเป็นความสุขแบบนิ่งๆเหมือนสมัยเด็กๆเลยทีเดียว เพราะอะไร…? ก็เพราะว่า อูคูเลเล่ เก่าๆ มันเหมือนงานศิลปะ ที่มีปริศนาให้ค้นหา ให้เดา ว่าไอ้ตัวนี้มันผลิตเมื่อปีไหน? ใช้วัสดุอะไร? คนขายมันหลอกหรือเปล่า? ซึ่งจากความสนุกที่ว่ามานี้ มันทำให้เราเข้าใจความสุขของเซียนพระได้ ว่าอ่อ.. ไอ้ที่ต้องซื้อหนังสือพระ ต้องนั่งส่องดูเนื้อพระกันทั้งวันทั้งคืนนี่มันเป็นยังไง? การที่เรารู้ได้ว่า องค์นี้ผลิตด้วยเนื้ออะไร? ปีไหน? ของเก๊มั๊ย? มันเป็นความภูมิใจแบบนี้นี่เอง…

นั่นคือที่มาของความคิดเรื่อง การหาหนทางสู่การเป็นเซียนอูคูเลเล่ แบบเซียนพระ ใน วันนี้ มันคงสนุกดี ถ้าเราสามารถดูรุ่น อูคูเลเล่ เก่าๆที่ฝรั่งก็มั่วๆเอามาขาย เขียนโฆษณาเกินจริง ปั่นราคา ได้ เสมือนกับเซียนพระตามท่าพระจันทร์ เราก็เลยค่อยๆอ่าน ค่อยๆเก็บความรู้ไปเรื่อยๆ ลองถอยมาดูสักตัวสองตัว ตอนนี้ก็พอจะมีความรู้ขึ้นมาบ้างแล้ว เลยอยากเอามาแชร์กับใครก็ได้ที่รัก อูคูเลเล่  ทั้งใหม่ ทั้งเก่า ใครอ่านไม่รู้เรื่องเชิญข้ามได้เลยนะครับ เพราะอาจจะลงลึกกว่าทุกบล็อคที่เขียนมา

วันนี้จะลองเขียนตอนแรกดู โดยที่จะเริ่มจาก อูคูเลเล่ ยี่ห้อ Martin ก่อน เลย ถ้าเปรียบๆดูกับวงการพระ Martin ก็คงเป็นสมเด็จวัดระฆังก็ว่าได้ มันเป็น อูคูเลเล่ ที่ฮิตมากในอเมริกาตั้งแต่ปลายยุค 10 ก็เกือบๆร้อยปีมาแล้ว และราคาในตลาดก็อยู่ในระดับท็อปๆอยู่ มีตั้งแต่ราคาหมื่นต้นๆ ไล่ไปถึงเป็นหลายๆแสน ขึ้นอยู่กับสภาพ , รุ่น , ปี เป็น 3 ข้อที่ทำให้ราคาแตกต่างกัน และฝรั่งมั่วๆก็มักจะใช้เรื่องพวกนี้หลอกขายเราได้ เพราะมันไม่มีวันที่ระบุไว้ที่ตัวหรอกว่าถูกผลิตปีไหน? ต้องดูจากรายละเอียดเล็กๆน้อยบนตัว อูคูเลเล่ แล้วคาดเดาเอาเอง ซึ่งแต่ละสำนักก็ยังบอกไม่ตรงกันอีกต่างหาก เห็นมั๊ย..ว่านี่มันส่องพระชัดๆ

Martin อูคูเลเล่ ถูกผลิตโดยบริษัท the Martin Guitar Company of Nazareth, Pennsylvania ซึ่ง ผลิตกีตาร์มาก่อนตั้งแต่ปี 1833 โน่น.. นักเล่นกีตาร์ต้องรู้จักยี่ห้อนี้ดีอยู่แล้ว ถือเป็นกีตาร์ระดับไฮเอนด์เลยทีเดียว แต่ Martin หันมาสนใจการผลิต อูคูเลเล่ จริงๆในช่วงต้นๆยุค 1900 ซึ่งพัฒนาจากการทำกีตาร์ เป็นเหตุผลว่า อูคูเลเล่ ของ Martin จึงมีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์มาก เพราะมันคล้ายกีตาร์จน อูคูเลเล่ ยุคหลังๆจะเรียกทรงนี้ว่าทรง Martin ( อูคูเลเล่ ในยุคแรกๆมาจากฮาวาย มีรูปทรงคอดๆ และใช้ไม้ Koa สีและทรงจึงเป็นเอกลักษณ์ฮาวายมากๆ )

อูคูเลเล่ ของ Martin เริ่มต้นใช้ไม้มะฮอกกานีในการผลิต ทำให้ได้เสียงที่แตกต่างจาก อูคูเลเล่ จากฮาวาย และมีเอกลักษณ์ ( แต่ Martin ก็ผลิต อูคูเลเล่ ด้วยไม้ Koa จากฮาวายด้วยเช่นกัน ) Martin เริ่มผลิต อูคูเลเล่ ขายจริงๆในปี 1916 โดย Frank Henry Martin เป็นหลานชายของ C.F. Martin ผู้ก่อตั้ง. เริ่มผลิตกันในปี 1915 แค่ 12 ตัวเท่านั้น ( อยากเห็นมากว่าเป็นยังไง ) ส่วนในปี 1916 ที่มีการขายจริงๆ Martin สามารถขายไปได้ 1,371 ตัว และยอดขายก็สูงขึ้นๆ โดยช่วงปี 1926 เป็นช่วงที่ Martin ขาย อูคูเลเล่ ได้มากที่สุด ราว 14,000 ตัวทีเดียว แล้วกลับไปตกต่ำในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ขายได้ไม่ถึงพันตัวต่อปี จนกระทั่งยุค 50 อูคูเลเล่ ก็กลับมาฮิตอีกครั้งด้วยการนักจัดรายการที่ชื่อ Arthur Godfey ที่นำเอา อูคูเลเล่ มาเล่นในรายการทีวีจนเป็นที่โด่งดัง ( อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมย้อนหลังได้จากบล็อค อูคูเลเล่ ที่รัก.. ยิ่งเก่ายิ่งน่ารัก ) ส่งผลให้ Martin กลับมาขาย อูคูเลเล่ ได้ดีอีกครั้ง ก่อนจะซบเซาจนต้องเลิกผลิตไปเลยในปลายยุค 70s.

เอาล่ะ.. เราเกริ่นข้อมูลเบื้องต้นของ Martin อูคูเลเล่ กันพอสมควรแล้ว ทีนี้จะเริ่มลงลึกในรายละเอียดการส่อง อูคูเลเล่ กันดีกว่า เริ่มจากรุ่นต่างๆของ Martin ก่อน. Martin มี อูคูเลเล่ ทั้งหมดคือ รุ่นที่เป็นขนาด Soprano ทำจากไม้มะฮอกกานี เป็นรุ่นพื้นฐาน คือ Style 0 , Style 1 , Style 2 และถ้าเป็นระดับรุ่นมือโปร จะมี 2 รุ่นคือ Style 3 และ Style 5 ( ไม่มีใครรู้ว่า ทำไมไม่ทำรุ่น 4 ? ) ต่อมาคือ รุ่นที่ทำจากไม้ Koa คือ Style 1k , 2k , 3k และ 5k ( 5k คือสุดท้ายราคาโหดมาก ) นอกจากนี้ยังมีขนาดพิเศษคือ คือ ขนาด Concert เรียกว่ารุ่น Style 1c , ขนาด Tenor เรียกว่ารุ่น Style 1T และขนาด Baritone เรียกว่า Baritone. แค่ไล่รุ่นก็อ้วกแล้วนะครับ… จะบอกว่าจริงๆมีมากกว่านี้อีก แต่ไม่ขอพูดดีกว่า มันจะยิ่งงงหนัก เอาเป็นว่าในตลาดจะส่องๆกันประมาณนี้แหล่ะ แค่นี้ก็ดูกันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว

ที่มา baanukulele
สนใจ อูคูเลเล่, โวโอลิน, ตู้แอมป์ และเครื่องดนตรีอื่นๆ

ติดต่อได้ที่


บริษัท บราโวมิวสิค จำกัด

เว็บไซต์ : http://www.bravomusic.co.th

ที่อยู่ : 1093/4 ถนนอรุณอมรินทร์ ศิริราช บางกอกน้อย, กรุงเทพ 10700
โทรศัพท์ : (66) 02- 866-1152, (66) 028663251
เบอร์มือถือ: (66) 082-824-6699
แฟ๊กซ์. : (66) 02- 866-0694

อีเมล์ : bravo@bravomusic.co.th
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น