วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อูคูเลเล่: มาฝึก Fingerstyle อูคูเลเล่ แบบ OLARN กันดีกว่า (ตอนที่1)

เผอิญว่า มีเพื่อนสมาชิกได้ส่ง pm มาสอบถามถึงวิธีฝึกฝนการเล่น อูคูเลเล่ แนว fingerstyle ให้ผมช่วยแนะนำให้หน่อยว่า มีวิธีฝึกฝนอย่างไร ผมตอบไปแล้วเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ กับเพื่อนสมาชิกท่านอื่น ที่อยากจะมาเล่นในแนวนี้ ก็เลยลองเอาแนวทางที่ผมใช้สอนลูกศิษย์ที่มาเรียนกับผมนะครับ มาเขียนอธิบายให้อ่านกัน ซึ่งแนวทางที่ผมเขียนไว้นี้ เป็นแค่วิธีที่ผมใช้นะครับ อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่คนสนใจสามารถนำไปทดลองฝึกดูครับ หวังแต่ว่ามันจะทำให้เราสนุกสนานกับ อูคูเลเล่ กันได้มากขึ้น และชักชวน บอกต่อกันไปถึงความสนุกของมัน เพื่อสังคม อูคูเลเล่ ที่กว้างขวางขึ้นครับ 

เข้าเรื่องเลยครับ 



สำหรับการเล่นแนวนี้ เริ่มต้นจะต้องฝึกเรื่องการเล่นคอร์ดให้คล่องก่อนครับ 
บนสาย
อูคูเลเล่ ทั้ง 4 เส้น จะประกอบด้วยตัวโน้ต 4 ตัวคือ G C E A ทั้งสี่ตัวนี้สามารถนำมาผสมกันสร้างเป็นคอร์ดได้มากมายมหาศาล เคล็ดลับของมันก็คือ เราจะต้องจำตำแหน่ง (position) ของนิ้วให้ได้เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจับคอร์ดที่ลึกเข้าไปด้านในคอมากๆ วิธีจำง่ายๆ ให้เราจำรูปนิ้วมือ สามารถแยกรูปทางนิ้วออกมาเป็น 3 กลุ่มคอร์ดหลักๆ นะครับ คือ กลุ่มคอร์ด Major, minor และกลุ่มคอร์ด 7 (seven) เนื่องจากว่ามันเป็นคอร์ดที่พวกเราพบเยอะที่สุด เอาล๋ะ เดี๋ยวเรามาดูกันว่า แต่ละกลุ่มเรามีทางนิ้วแบบไหนกันบ้าง

กลุ่ม Major chords กลุ่มนี้ก็ได้แก่พวกคอร์ดที่เขียนเป็นตัวอักษรโดดๆ อย่างเช่น C G F D ฯลฯ พวกนี้ จะมีทางนิ้ว หรือตอนนี้ขอใช้คำว่า Form นะครับ อยู่ 4 แบบคือ
1. G form อันนี้ให้เราจำวิธีจับคอร์ด G เอาไว้ โดยที่ตำแหน่งของนิ้ว เรียงจากสาย 4 ไปสาย 1 จะเป็นรูป 4232
2. D form อันนี้ก็ให้เราจำวิธีจับคอร์ด D เอาไว้ โดยที่ตำแหน่งของนิ้ว จะเป็น 2220 (ตำแหน่ง 0 ก็คือไม่กด หรือให้คิดว่า นิ้วชี้กดที่สาย 1 ในตำแหน่งที่ร่นออกไป 2 ช่อง)
3. B form รูปนี้ให้จำวิธีจับคอร์ด B รูปนิ้วจะอยู่ในตำแหน่ง 3211
4. C form รูปนี้ให้จำวิธีจับคอร์ด C รูปนิ้วจะอยู่ในตำแหน่ง 0003 (ตำแหน่ง 0 ให้คิดเหมือนเอานิ้วชี้ทาบไปในตำแหน่งที่ร่นออกไป 2 ช่อง)

กลุ่ม minor chords กลุ่มนี้ได้แก่พวกคอร์ดที่เขียนในรูป Xm ยกตัวอย่างเช่น Dm Am Fm C#m เป็นต้น form การจับของกลุ่มนี้ก็จะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ
1. Gm form ให้เราจำตำแหน่งนิ้ว ในรูป 3231
2. Dm form ให้เราจำตำแหน่งนิ้ว ในรูป 2210 (ตำแหน่ง 0 ก็คือไม่กด หรือให้คิดว่า นิ้วชี้กดที่สาย 1 ในตำแหน่งที่ร่นออกไป 2 ช่อง)
3. Bm form ให้เราจำตำแหน่งนิ้ว ในรูป 4222

กลุ่ม 7th chords กลุ่มนี้ก็ได้แก่พวกคอร์ดที่เขียนในรูป X7 ทั้งหลาย อย่างเช่น C7 G7 D7 เป็นต้น form การจับของคอร์ดกลุ่มนี้ ก็จะมีอยู่ 3 รูปแบบเช่นกัน คือ
1. G7 form ให้เราจำตำแหน่งนิ้ว ในรูป 3212
2. D7 form ให้เราจำตำแหน่งนิ้ว ในรูป 2020 (ตำแหน่ง 0 ให้คิดเหมือนเอานิ้วชี้ทาบไปในตำแหน่งที่ร่นออกไป 2 ช่อง)
3. B7 form ให้เราจำตำแหน่งนิ้ว ในรูป 2322

ตอนนี้เราก็ได้รูปทางนิ้วในคอร์ดหลักพื้นฐานมาทั้งหมดแล้วนะครับ ที่ผมสรุปให้ดูแบบนี้ก็เพื่อที่จะให้เราสามารถจับคอร์ดอะไร ในตำแหน่งใดๆ บนคอ
อูคูเลเล่ ได้อย่างไม่ติดขัด จะเห็นว่า ถ้าเราสามารถจำทางนิ้วได้ แค่ 10 รูปแบบแล้ว เราสามารถเล่นคอร์ดอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องเปิดตารางคอร์ดดูเลย ขอเพียงเรามีความเข้าใจเรื่องของ tone และ semi tone ซึ่งแปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือระยะห่างของเสียงตัวโน้ตแต่ละตัว มันเป็นยังไงล่ะ ถ้ายังไม่เหนื่อยก็ลองอ่านต่อดูครับ

ผมขอยกตัวอย่างโน้ตในคีย์ C Major ก่อนนะครับ (ตอนนั้นอ่านไปก่อนนะครับ อย่าเพิ่งตั้งคำถามว่าทำไมเป็น C Major เพราะเดี๋ยวช่วงหลังๆ ผมจะอธิบายให้ฟังต่อไปข้างหน้า) ที่ว่าเป็นคีย์ C ก็เพราะมันเป็นคีย์ที่ง่ายที่สุดแล้ว เพราะประกอบด้วยตัวโน้ตที่ซื่อตรง ไม่บิดเบี้ยวให้งงกัน นั่นก็คือ ประกอบด้วยโน้ต 7 ตัวนะครับคือ
C(โด), D(เร), E(มี), F(ฟา), G(ซอล), A(ลา), B(ที) แล้วก็ไปต่อกับ C ที่สูงขึ้นอีก octave นึง 

มาถึงตอนสนุกละ ในโน้ตทั้ง 7 ตัวนี่ มันจะมีระยะห่างระหว่างเสียง ที่พูดไปแล้วอย่างนี้ครับ
C ไป D ห่างกัน 1 เสียง = 2 semi tone ผมแปลง่ายๆ ในแบบวิธีปฏิบัติก็คือ ห่างกัน 2 fret บน fingerboard ครับ 
D ไป E ห่างกัน 1 เสียง หรือ ห่างกัน 2 fret บน fingerboard
E ไป F ห่างกัน 1/2 เสียง หรือ ห่างกัน 1 fret บน fingerboard
F ไป G ห่างกัน 1 เสียง หรือ ห่างกัน 2 fret บน fingerboard
G ไป A ห่างกัน 1 เสียง หรือ ห่างกัน 2 fret บน fingerboard
A ไป B ห่างกัน 1 เสียง หรือ ห่างกัน 2 fret บน fingerboard
B ไป C ห่างกัน 1/2 เสียง หรือ ห่างกัน 1 fret บน fingerboard

ทีนี้ให้เราทดลองเล่นสาย 3 บน
อูคูเลเล่ นะครับ ซึ่งสาย 3 เราตั้งสายเป็นเสียง C อยู่แล้ว ทีนี้เราลองกดไล่ลงมาเรื่อยๆ ตามลำดับตัวโน้ตที่เขียนให้ดูข้างต้นนะครับ เราก็จะเจอโน้ตตัวพัดไปไล่ตามๆ กัน ลองดูครับ พอไล่สาย 3 ได้แล้ว ลองขยับมาไล่เสียงบนสาย 2 บ้าง เริ่มตั้งแต่สายเปล่าคือเสียง E แล้วไล่ลงมาตามสูตรที่ให้ไป ต่อมาก็มาลองเล่นกับสายอื่นๆ ดูตามนั้น ไม่ยากใช่มั๊ยครับ 

พอเราเข้าใจเรื่องระยะห่างของโน้ตแต่ละเสียงแล้ว เราก็กลับมาดูรูปแบบการจับคอร์ดของเราบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เราจับคอร์ดในรูป G form แล้วเราต้องการเล่นคอร์ด A เราทำไงครับ? ง่ายมากครับ เราแค่เลื่อนนิ้วเข้ามาด้านในคออีก 2 fret โดยรูปของการวางนิ้วเหมือนเดิม แต่คอร์ดที่เราจับก็เปลี่ยนเป็นคอร์ด A ไปเสียแล้ว อันนี้เป็นไอเดียในการเล่น transpose หรือเปลี่ยนเสียงนะครับ โดยให้เราจำสูตรของระยะห่างระหว่างเสียงที่ให้ไป แล้วก็ลองฝึกกับทางนิ้วรูปอื่นๆ ดู จนคล่องครับ พอคล่องแล้วเดี๋ยวเรามาคุยกันต่อในตอนหน้าครับ

ที่มา: baanukulele.com 
 
สนใจ อูคูเลเล่, โวโอลิน, ตู้แอมป์ และเครื่องดนตรีอื่นๆ
ติดต่อได้ที่ บริษัท บราโวมิวสิค จำกัด
เว็บไซต์ : http://www.bravomusic.co.th
ที่อยู่ : 1093/4 ถนนอรุณอมรินทร์ ศิริราช บางกอกน้อย, กรุงเทพ 10700
โทรศัพท์ : (66) 02- 866-1152, (66) 028663251
เบอร์มือถือ: (66) 082-824-6699
แฟ๊กซ์. : (66) 02- 866-0694
 
อีเมล์ : bravo@bravomusic.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น